รู้จัก 5 โรคในช่องปากและฟัน ลูกวัยเรียน
โรคที่เกี่ยวข้องกับปาก และฟัน ของลูก มีอยู่ไม่น้อยเลย แต่เราขอแนะนำ 5 โรคที่ต้องระวัง และเจอกันบ่อยๆ ที่คุณพ่อคุณแม่ควรรู้จัก เฝ้าระวัง รวมถึงดูแลให้ถูกวิธี เพื่อสุขภาพฟันที่ดีของลูกค่ะ
1. โรคมือ เท้า ปากเปื่อย
สำหรับโรคนี้ มักพบได้บ่อยในประเทศเขตเมืองร้อน เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Coxsackievirus พบได้ในเด็กวัยต่ำกว่า 10 ปี โดยเฉพาะน้องหนูวัยเรียน มีโอกาสที่จะได้รับเชื้อผ่านการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อนี้ แต่ไม่ใช่โรคที่รุนแรงแต่อย่างใด เพราะสามารถหายได้เอง (แต่ก็ต้องระวังให้มาก)
อาการ มักเริ่มต้นด้วยไข้ต่ำๆ มีอาการอ่อนเพลีย และปรากฏตุ่มน้ำเล็กๆ ที่ปากให้เห็น และแตกเป็นแผลตื้นๆ อาจทำให้ลูกรู้สึกเจ็บ กินอาหารได้น้อยลง และจากแผลที่ปากก็จะจะค่อยๆ ลุกลามมาที่มือ เท้า จึงเป็นที่มาของโรคมือ เท้า ปากเปื่อยนั่นเองค่ะ
การดูแล
– สอนให้ลูกรู้จักการรักษาความสะอาดในช่องปาก
– อาการเจ็บแผลในปาก สิ่งที่ควรดูแลคือ ให้ลูกกินอาหารชนิดอ่อนๆ ย่อยง่าย
– หากลูกมีอาการซึม ปัสสาวะน้อยลง หมายถึงอาการขาดน้ำ ควรรีบพาลูกไปพบคุณหมอทันที
2. โรคปากนกกระจอก
สาเหตุของโรคยังไม่สามารถบอกได้แน่ชัด มีเพียงความเป็นไปได้ว่า อาจเกิดจากการขาดวิตามินบี หรือระบบภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เป็นโรคภูมิแพ้ พักผ่อนไม่เพียงพอ หรือดื่มน้ำน้อยเกินไป ก็เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรค
อาการ มีรอยแผลแตกที่มุมปากมีลักษณะเป็นวงกลมขาวๆ ขนาดเล็ก ใหญ่ก็ได้ หรือกระจายเป็นกลุ่ม มีอาการเจ็บเมื่ออ้าปากหรือกินอาหาร ไม่มีการแพร่กระจายของแผล อาจเป็นๆ หายๆ หลายครั้ง
การดูแล
– รักษาความสะอาดริมฝีปาก ภายในช่องปาก เพื่อป้องกันโรค เช่น ให้ลูกบ้วนปากด้วยน้ำเปล่าสะอาด หรือน้ำยาบ้วนปากที่ต่อต้านจุลินทรีย์ เช็ดมุมปากให้แห้ง
– การดูแลทำได้เพียงบรรเทาอาการ เช่น ใช้ยาทาแผลสำหรับแผลในปาก, ทำความสะอาดบริเวณมุมปากให้ดี ใช้วาสลิน หรือขี้ผึ้งทา, ถ้าไม่ดีขึ้นภายใน 1 สัปดาห์ ควรไปพบคุณหมอ
3. แผลร้อนใน
เป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นกับทุกเพศ ทุกวัย เกิดซ้ำๆ และหายได้เอง ทั้งนี้ อาจส่งผลในเรื่องของสุขภาพ ทำให้ลูกกินอาหารน้อยลง มีอาการเจ็บปากโดยเฉพาะเด็กวัย 3- 5 ปี อาจสับสนกับอาการ อาจบอกว่าปวดฟัน เพราะอาการเจ็บแผลคล้ายปวดฟัน ฉะนั้นหากลูกเล็กๆ บ่นปวดฟัน แต่ไม่เห็นฟันผุ คุณแม่ควรตรวจดูบริเวณเหงือก กระพุ้งแก้ม หรือใต้โคนลิ้น เพื่อดูว่ามีแผลร้อนในที่บริเวณนั้นๆ หรือไม่
อาการ เกิดแผลที่มีขอบชัด เป็นวงสีขาวๆ อาจเกิดได้ 1-2 จุดในช่องปาก ร่วมด้วยอาการรู้สึกเจ็บหรือปวด
การดูแล แผลร้อนในมักหายเองภายใน 7-10 วัน โดยไม่ต้องใช้ยาใดๆ หรืออาจรักษาตามอาการ เช่น ใช้ยาขี้ผึ้งทาบริเวณที่เกิดแผลร้อนใน หรือหากกินข้าวไม่ได้เพราะเจ็บแผลมาก หมอฟันอาจให้เจลยาชาทาที่แผลเพื่อให้หายเจ็บและกินข้าวได้
4. โรคเหงือกอักเสบ
โรคนี้เกิดขึ้นจากการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย เนื่องจากการดูแลสุขภาพฟันที่ไม่เพียงพอ เช่น แปรงฟันไม่สะอาด ทำให้แบคทีเรียติดอยู่กับฟัน แบคทีเรียจะปล่อยสารท๊อกซินออกมา เป็นเหตุทำให้เส้นเลือดบริเวณเหงือกเปราะบาง แตกได้ง่าย
อาการ เหงือกมีลักษณะบวมแดง และอาจมีเลือดออกเวลาแปรงฟัน
การดูแล
– หมั่นดูแลสุขภาพช่องปากของลูกน้อยเป็นประจำ
– คุณแม่ควรเป็นผู้ช่วย ที่ช่วยแปรงฟันให้ลูกซ้ำ เพื่อให้บริเวณนั้นๆ สะอาด ขจัดคราบฟันออกให้หมด ก็จะช่วยป้องกัน และบรรเทาอาการที่เกิดขึ้นค่ะ
5. โรคฟันผุ
เป็นโรคยอดฮิตของเด็กๆ วัยนี้ค่ะ เพราะเด็กๆ เริ่มกินอาหารที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะขนม และยังทำความสะอาดได้ไม่ดีพอ โอกาสที่จะเกิดโรคฟันผุได้ง่าย กลายเป็นปัญหาใหญ่ เป็นโรคที่คุณพ่อคุณแม่ควรป้องกันไว้ก่อนดีกว่าค่ะ
อาการ รู้สึกเจ็บหรือปวดบริเวณที่ฟันผุ
การดูแล
สำหรับฟันที่ผุเล็กน้อย คุณพ่อคุณแม่เห็น รู้ทันปัญหาได้เร็ว ก็สามารถรักษาได้ด้วยการอุดฟันแบบง่ายๆ หากฟันผุลุกลาม จนลูกรู้สึกปวดฟัน มีเหงือกบวม หรือมีหนอง จำเป็นต้องให้คุณหมอรักษารากฟันหรือถอนฟันค่ะ
คำแนะนำจากหมอฟัน
“ปัญหาสุขภาพช่องปากและฟันของเด็กเล็กวัย 3-5 ปี ที่พบบ่อยมากคือ ฟันผุ หากลูกน้อยมีฟันเริ่มผุรูเล็กๆ แม้เด็กจะอายุเพียง 3 ปี การอุดฟันที่รูเล็กๆ ใช้เวลาทำไม่เกิน 10 นาที และไม่เจ็บไม่ต้องฉีดยาชา เด็กบางคนก็ให้ความร่วมมือได้กับการรักษานี้ ส่วนบางคนที่ยังคงร้องไห้กลัว ก็สามารถทำได้เพราะใช้เวลาไม่นานและไม่เจ็บ ดีกว่าปล่อยให้รูผุเล็กๆนั้นลุกลามใหญ่ขึ้น ผู้ปกครองบางท่าน คิดว่าลูกยังเล็ก จึงไม่พามาอุดฟัน แต่เด็กมักจะโตไม่ทันรูผุ หลายคนเริ่มผุเมื่ออายุ 3 ปีผ่านไป 1 ปี รูผุนั้นลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน ลูกปวดฟัน ต้องรักษารากฟันหรือถอนฟัน ซึ่งลูกก็อายุ 4 ปี ยังเล็กเกินไปกับการรักษา การอุดฟันตั้งแต่รูเล็กมากๆ ก็จะง่ายกว่า
ขนมกับเด็กๆ เป็นของคู่กัน ทำให้เกิดฟันผุมาคู่กับเด็กๆ ด้วย การสร้างกติกาอย่างถูกต้องเป็นเรื่องสำคัญ หากทำได้ เด็กๆ ก็จะได้กินขนมแบบฟันไม่ผุ วิธีก็คือ ห้ามกินขนมหวานนาน (ไม่เกิน 5-10 นาที) กินเสร็จ ขนมต้องหลุดจากฟันให้หมดทันที จะลงท้องไปหรือบ้วนทิ้งก็ได้ (โดยการบ้วนน้ำกุกๆ แรงๆ หลายครั้ง หรือแปรงฟันให้ขนมหลุดจากตัวฟัน) และไม่กินจุบจิบ
ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงควรสร้างนิสัยการกินขนมให้ถูกต้อง ขนมที่เสี่ยงต่อการเกิดฟันผุทุกชนิด ไม่ควรกินที่โรงเรียน ให้มากินที่บ้าน คุณแม่จะได้ดูแลแปรงฟันให้ขนมหลุดออกจากฟัน ลูกน้อยวัยอนุบาล ก็จะได้กินขนมหวานแบบฟันไม่ผุค่ะ”
ขอบคุณ : ทพญ. กมลชนก เดียวสุรินทร์
- KolaxCream: ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเส้นเลือดขอด - กรกฎาคม 31, 2024
- Melavita: แคปซูลปกป้องผิว - กรกฎาคม 31, 2024
- Hanoxol: แคปซูลสำหรับโรคริดสีดวงทวาร - กรกฎาคม 31, 2024